ข่าวสาร

แท็งก์สำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย ตามข้อกำหนด ADR

การขนส่งสินค้าอันตรายนั้น มีความอันตรายในตัวสินค้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้การขนส่งสินค้าดังกล่าวจึงจำเป็นต้องทำการขนส่งในระบบปิดตามมาตรฐานความปลอดภัย ด้วยความระมัดระวังสูงสุด เพื่อให้มั่นใจว่ารถและหน่วยขนส่งสินค้าอันตรายอยู่ในสภาพที่ดีและเหมาะสมแก่ใช้งาน ซึ่งการขนส่งสินค้าอันตรายต่างๆนั้น จะมีข้อกำหนดตามรูปแบบการขนส่งที่เฉพาะเจาะจงและมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป โดยยังคงยึดแกนกลางจากข้อนำแนะในการขนส่งสินค้าอันตรายโดยสหประชาชาติ หรือ UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods อย่างเคร่งครัด

ตามข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน หรือ Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR) ได้มีการกำหนดเรื่อง การสร้างและการออกแบบแท็งก์สำหรับการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งแท็งก์นั้นจัดเป็นหนึ่งในรูปแบบการขนส่งสินค้าอันตรายทางถนน โดยการขนส่งวัตถุอันตรายสามารถทำการขนส่งได้ด้วยแท็งก์ในหลายรูปแบบ ดังนี้

การขนส่งวัตถุอันตรายด้วยแท็งก์ในรูปแบบต่าง ๆ

  • แท็งก์ไร้ความดัน สำหรับการขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง
  • แท็งก์ติดตั้งฉนวนแบบสุญญากาศ สำหรับการขนส่งก๊าซเหลวอุณหภูมิต่ำ
  • ภาชนะบรรจุก๊าซแบบแบตเตอรี่ สำหรับการขนส่งก๊าซอัด (Battery Vehicle)
  • ภาชนะบรรจุก๊าซแบบกลุ่ม (Multiple-Element Gas Container; MEGC)
  • แท็งก์แบบไซโล สำหรับการขนส่งสารที่เป็นผงหรือเป็นเม็ด ๆ
  • แท็งก์บรรทุกของเสียทำงานด้วยสุญญากาศ สำหรับการขนส่งของเหลวหรือกากของเสีย
  • แท็งก์ภายใต้ความดัน สำหรับการขนส่งสารเคมี ยางมะตอย หรือก๊าซเหลวภายใต้ความดัน

ช่องบรรทุกของแท็งก์ อาจมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์การใช้งานและประเภทของสารที่ต้องทำการขนส่ง

  • แท็งก์ที่มีเพียงช่องบรรทุกเดียว
  • แท็งก์ที่มีหลายช่องบรรทุกสำหรับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียว (ช่องเปิดด้านล่างต่อถึงกัน)
  • แท็งก์ที่มีหลายช่องบรรทุกสำหรับผลิตภัณฑ์หลายชนิด (ช่องเปิดด้านล่างแยกกัน)

รูปทรงของแท็งก์ อาจมีได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการออกแบบเพื่อความแข็งแรงในใช้งานและความเหมาะสมกับประเภทของสารที่ต้องทำการขนส่ง

  • แท็งก์ทรงกระบอก : เป็นรูปแบบที่มีความแข็งแรงที่สุดสามารถทนต่อความดันได้ดี จึงนิยมนำเป็นใช้ในการสร้างแท็งก์ภายใต้ความดัน เพื่อใช้ในการขนส่งก๊าซและของเหลวภายใต้แรงดัน เช่น ก๊าซอัด ก๊าซเหลวอุณหภูมิต่ำ และสารเคมีบางประเภท
  • แท็งก์รูปทรงวงรี : เป็นรูปแบบที่มีความแข็งแรงปานกลางเมื่อถูกนำมาเปรียบเทียบกับแท็งก์ในรูปแบบทรงกลม โดยมีจุเด่นเรื่องของค่า CG (จุดศูนย์ถ่วงต่ำ) ได้รับความนิยมในการนำมาสร้างแท็งก์ไร้ความดัน เพื่อใช้ในการขนส่งของเหลวไร้ความดัน เช่น น้ำมันเชื้องเพลิง หรือสารเคมีบางประเภท
  • แท็งก์ทรงเหลี่ยม : เป็นรูปแบบที่เคยได้รับความนิยมในสมัยก่อน สำหรับรถขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ประสบปัญหาเรื่องความแข็งแรงของตัวแท็งก์ที่ไม่สามารถยืนระยะต่อแรงกระแทกภายในช่องบรรทุกที่มาจากการกระฉอกหรือการเคลื่อนที่ไปมาภายในแท็งก์ระหว่างการดำเนินการขนส่งได้ ต่อมาจึงมิค่อยได้รับความนิยมในการนำมาสร้างแท็งก์สำหรับการขนส่งของเหลว แต่ยังคงมีการนำรูปทรงดังกล่างใช้ในการออกแบบและสร้างแท็งก์สำหรับการขนส่งของแข็งในลักษณะที่เป็นผงหรือเป็นเม็ด อยู่บ้างในปัจจุบัน