การจัดทำประวัติพนักงานขับรถและการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ
ภารกิจและหน้าที่ของบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง TSM (Transport Safety Manager) ในการจัดการด้านทรัพยากรบุคคล มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการขนส่งอย่างมาก โดยพนักงานขับรถทุกคนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นพนักงานขับรถเรียบร้อยแล้วนั้น บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง ต้องจัดทำประวัติของแต่ละบุคคลไว้โดยจะต้องสามารถเรียกดูข้อมูลได้ตลอดระยะเวลาปฏิบัติงาน และรวมถึงในกรณีที่พนักงานมีการลาออกหรือยุติการปฏิบัติงานให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้เก็บประวัติไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี หลังสิ้นสุดการปฏิบัติงาน
ข้อมูลสำคัญที่ต้องมีการจัดเก็บ ได้แก่
- แบบบันทึกการตรวจสอบคุณสมบัติ
- รายงานการสัมภาษณ์เบื้องต้น
- ประวัติอาชญากรรม
- ประวัติการเกิดอุบัติเหตุ
- ประวัติการขนส่งในแต่ละกลุ่มขนส่งสินค้า หรือตามข้อมูลของบริษัทฯ เช่น
ประวัติการตรวจสุขภาพประจำปี ประวัติการตรวจสารเสพติด เป็นต้น
นอกจากนั้นบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง TSM (Transport Safety Manager) จะต้องทำการวางแผนและจัดการพนักงานขับรถให้ปฏิบัติงานขับรถขนส่งเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด โดยพนักงานขับรถจะต้องรู้หน้าที่และความรับผิดชอบของตนในการปฏิบัติงาน มีความพร้อมด้านร่างกายและจิตใจรวมถึงสุขอนามัยที่ดีในการทำงานขนส่งแต่ละเที่ยว โดยบุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่งจะต้องมั่นใจได้ว่าพนักงานขับรถได้มีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ มีชั่วโมงการขับรถต่อเนื่องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจนเกิดความเหนื่อยล้าสะสมขณะขับรถ ไม่มีการใช้ยาที่มีผลต่อสมรรถนะการขับรถและไม่มีแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดในร่างกาย ดังนั้นการมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานขับรถจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยมีกรอบแนวคิดในการกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของพนักงานขับรถดังนี้
การเริ่มต้นทำงานประจำวัน :
- พนักงานขับรถจะต้องบันทึกเวลาเข้าทำงาน และเวลากลับโดยการตอกบัตรที่หน้าประตูของบริษัทฯ ทุกวัน
- พนักงานขับรถจะต้องทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และเข้ามาเซ็นชื่อที่หัวหน้างานก่อนเริ่มงานทุกครั้ง (ทุกเที่ยวการขนส่ง)
- พนักงานขับรถต้องตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนเริ่มปฏิบัติงาน
- พนักงานขับรถจะต้องออกรถตามเวลาที่ได้วางแผนเอาไว้ หรือตามเวลาที่บริษัทกำหนดอย่างเคร่งครัด
ระหว่างเดินทาง :
- พนักงานขับรถต้องปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด
- พนักงานขับรถต้องเข้าพักตามจุดจอดที่กำหนดไว้ในแผนการเดินทางทุกครั้ง
- ห้ามมิให้พนักงานขับรถออกนอกเส้นทางที่บริษัทฯ กำหนดไว้ เว้นแต่ในกรณีมีเหตุผลอื่นที่สมควร อาทิเช่น การปิดช่องทางจราจรเนื่องจากการซ่อมถนนหรือการเกิดอุบัติเหตุ ในกรณีที่มีการขับรถออกนอกเส้นทางพนักงานขับรถจะต้องทำการบันทึกรายละเอียดลงในรายงานประจำวันของพนักงานขับรถ เพื่อที่บริษัทฯ สามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง
- ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุฉุกเฉินขึ้นกับรถขนส่ง พนักงานขับรถจะต้องรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้องทันทีตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในคู่มือจัดการเหตุฉุกเฉิน เพื่อมิให้อุบัติเหตุขยายวงกว้างออกไป และเพื่อให้มีการบาดเจ็บหรือสูญเสียน้อยที่สุด หลังจากนั้นให้พนักงานขับรถรีบแจ้งกลับบริษัททันที
การขนถ่ายสินค้าขึ้นรถขนส่ง :
- พนักงานขับรถจะต้องจอดรถในตำแหน่งที่ถูกต้อง พร้อมดับเครื่องยนต์ดึงเบรกมือ และใช้ลิ่มขัดล้อ
- พนักงานขับรถจะต้องยืนยันชื่อสินค้า จำนวน โดยให้ดูเปรียบเทียบกับใบสั่งงานก่อนขนถ่ายสินค้า
- พนักงานขับรถจะต้องประจำอยู่ที่รถตลอดเวลาระหว่างการขนถ่ายสินค้า
- พนักงานขับรถจะต้องตรวจสอบชื่อลูกค้า ชื่อสินค้า และจำนวน
- สินค้าที่บรรทุกกับเอกสารกำกับสินค้าให้ถูกต้อง จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในการลงสินค้า และตรวจสอบสถานที่ตั้ง ข้อมูลลูกค้า และเส้นทางที่จะไปถึงลูกค้าด้วย
การลงสินค้า :
- พนักงานขับรถจะต้องส่งมอบเอกสารเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าให้ลูกค้า และขอให้ลูกค้าตรวจสอบรายการสินค้าและจำนวนสินค้าก่อนการลงสินค้า
- พนักงานขับรถจะต้องประจำอยู่ที่รถตลอดเวลาขณะลงสินค้า
- พนักงานขับรถจะต้องนำใบรับสินค้าที่มีลายเซ็นของลูกค้ากลับมาทุกครั้ง
การกลับจากการส่งสินค้า :
- พนักงานขับรถจะต้องมอบใบรับสินค้าและเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งให้แก่ผู้รับผิดชอบ
- พนักงานขับรถจะต้องตรวจสอบกับหัวหน้างานว่ามีเที่ยววิ่งอีกหรือไม่ หรือจะต้องมีการเติมน้ำมัน เตรียมไว้สำหรับการขนส่งในวันถัดไป
- พนักงานขับรถจะต้องส่งรายงานการเดินทางประจำวันให้กับหัวหน้างาน
- พนักงานขับรถต้องตรวจสภาพรถหลังการปฏิบัติงานประจำวัน
- พนักงานขับรถจะต้องทำการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์และเข้ามาเซ็นชื่อที่หัวหน้างานหลังเลิกงานทุกครั้ง (ทุกเที่ยวการขนส่ง)