การขนถ่ายสินค้าอันตรายขึ้นและลงจากรถขนส่ง
การขนส่งสินค้าอันตรายนั้น มีความอันตรายในตัวสินค้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพื่อให้มั่นใจว่ารถและหน่วยขนส่งสินค้าอันตรายอยู่ในสภาพที่ดีและพร้อมใช้งาน พนักงานขับรถจึงมีหน้าที่ ที่ต้องทำการตรวจสอบระบบต่างๆ ทั้งก่อนและหลังการขนส่งสินค้าอันตรายตามรายการตรวจสอบที่กำหนดหากพบข้อบกพร่องต้องรีบรายงานให้หัวหน้างานทราบและแก้ไขก่อนการออกเดินทาง มิเช่นนั้นอาจจะนำมาซึ่งความสูญเสียได้ ซึ่งการขนส่งผ่านช่องทางต่างๆนั้น จะมีข้อกำหนดในการขนส่งที่เฉพาะเจาะจงและมีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป แต่ยังคงยึดแกนกลางจากข้อนำแนะในการขนส่งสินค้าอันตรายโดยสหประชาชาติ หรือ UN Recommendations on the Transport of Dangerous Goods อย่างเคร่งครัด
ตามข้อตกลงว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตรายระหว่างประเทศทางถนน หรือ Agreement Concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Road (ADR) ได้มีการกำหนดเรื่อง การขนถ่ายสินค้าอันตรายขึ้นและลงจากรถขนส่ง ไว้เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการขนถ่าย เคลื่อนย้าย ขนส่งสินค้าอันตราย และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานและใช้ความระมัดระวังในการจัดการเพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น ระหว่างการขนถ่าย เคลื่อนย้ายขนส่งสินค้าอันตราย
ข้อกำหนดในการขนถ่ายสินค้าอันตราย
- ห้ามพนักงานประจำรถเปิดบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อระหว่างการขนส่ง
- ไม่รับขนส่งบรรจุภัณฑ์ที่ชำรุดเสียหาย
- ต้องมีการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนรถบรรทุกเมื่อมีการขนถ่ายสินค้าอันตรายลงจากรถเรียบร้อยแล้ว หรืออย่างน้อยก่อนการบรรทุกสินค้าอันตรายในครั้งต่อไป
- ต้องดับเครื่องยนต์ในระหว่างการถ่ายสินค้าขึ้นและลงจากรถทุกครั้ง ยกเว้นต้องใช้เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนระบบการขนถ่ายสินค้าอันตรายดังกล่าว
- ต้องจัดวางหีบห่อในทิศทางตามเครื่องหมายตำแหน่งลูกศรตั้งขึ้นที่ติดบนหีบห่อกำหนดเพื่อป้องกันการหกรั่วไหลของสารที่อยู่ภายใน
- ในกรณีที่จอดรถขนส่งสินค้าอันตรายต้องใช้เบรกมือร่วมกับลิ่มขัดล้อ ในทิศทางที่เสี่ยงต่อการไหลของรถในระหว่างการจอดรถ/หน่วยขนส่งสินค้าอันตรายทุกครั้ง
- การต่อพวงระหว่างรถหัวลากและรถพ่วง ต้องต่อระบบทุกระบบที่ต้องเชื่อมต่อระหว่างรถหัวลากและรถพ่วง โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบห้ามล้อที่ป้องกันล้อล็อก (ABS) และระบบไฟฟ้าต่าง ๆ ของรถพ่วง
- หีบห่อที่อ่อนไหวต่อความชื้นและน้ำ อาจเกิดการเสียหายแก่สินค้าอันตรายประเภทนั้นๆในกรณีได้รับสัมผัสความชื้นและน้ำ ดังนั้น หีบห่อเหล่านี้ต้องบรรทุกในรถแบบปิดหรือแบบตู้ตอนเทนเนอร์เท่านั้น
- เมื่อต้องมีการจัดวางสินค้าอันตรายกับผลิตภัณฑ์อาหาร การขนส่งสินค้าอันตรายที่เป็นสารพิษประเภทที่ 6.1 สารติดเชื้อในประเภทที่ 6.2 และสินค้าอันตรายในประเภทที่ 9 บางชนิดไปกับผลิตภัณฑ์อาหารและอาหารสัตว์ ต้องมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม
- ต้องตรวจสอบว่าหีบห่อที่บรรทุกบนหน่วยขนส่งเดียวกันและมีฉลากความเป็นอันตรายที่ต่างกันสามารถบรรทุกรวมกันได้ในรถคันเดียวกันได้หรือไม่
- การผูกยึดสินค้าให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายของบรรจุภัณฑ์จากการกระแทกในระหว่างการเบรก การวิ่งเข้าโค้ง หรือการเร่งความเร็ว ที่มีแรงกระทำกับสินค้าให้เคลื่อนที่หากไม่มีการป้องกันหรือปล่อยให้มีช่องว่างเกิดขึ้น
- ต้องกระจายน้ำหนักหีบห่อที่บรรจุอยู่ให้เท่ากันตลอดพื้นที่บรรทุก โดยไม่ควรวางหีบห่อซ้อนทับกัน ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการซ้อนทับต้องคำนึงถึงความแข็งแรงของบรรจุภัณฑ์และเพื่อให้มั่นใจว่าจุดศูนย์ถ่วงของรถที่เกิดจากการบรรทุกสินค้าอยู่ในจุดที่ต่ำสุดเพื่อช่วยในการทรงตัวของรถและลดโอกาสในการพลิกคว่ำได้ดีขึ้น